จุดกำเนิดของ ฉลามบก รถสายตรวจกองปราบที่เก็บกวาดอาชญากรมาทั่วทุกสารทิศ
ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2492 รถวิทยุสายตรวจได้ถือกำเนิดขึ้นในกรมตำรวจ ขณะนั้น หลวงชาติตระการโกศล ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ได้ใช้กำลังพลทั้งหมดจากกองปราบปราม รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งออกเป็น 3 เขตตรวจ คือ เหนือ ใต้ ธน และยังมีเขตตรวจในพื้นที่ต่างจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำรวจทางหลวง
ในปี พ.ศ.2495 ภายหลังจากย้ายกองปราบปราม มารวมกัน รถวิทยุสายตรวจ ได้มีการติดตั้งเสาวิทยุอยู่ด้านหลัง เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร มีลักษณะเหมือนกระโดงปลาฉลาม จนถูกขนานนามว่า “ฉลามบก” นักล่าศัตรูของประชาชน มีภารกิจทั่วประเทศ
กระทั่งยุค พล.ต.ต.สำราญ กลัดศิริ เป็นผู้บังคับการปราบปราม ได้มีการปรับปรุงรถวิทยุสายตรวจครั้งใหญ่ มีการเปลี่ยนสีรถเป็น ฟ้า-ขาว และแสดงสัญลักษณ์ของหน่วยกองปราบปราม มีการ จัดเป็นรูปรถสายตรวจออกตระเวนไปตามที่ต่างๆ ย่านการค้า ทั่วพระนคร-ธนบุรี และต่างจังหวัดที่มีความรุนแรงในเรื่องของอาชญากรรม เป็นการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยเคลื่อนที่เป็นครั้งแรกในตอนนั้น โดยตระเวนรับแจ้งความ แจ้งเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน รถดังกล่าวสามารถเข้าระงับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ ระยะแรกได้ผลเป็นอย่างมาก สามารถเป็นที่พึ่งอย่างดีสำหรับประชาชนที่ใช้ถนนในยามค่ำคืนในสมัยนั้น
ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบรถวิทยุสายตรวจให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของพี่น้องประชาชน ตามวิสัยทัศน์กองปราบปรามที่ว่า “มืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชาชน”