นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วยนายสุริยัณ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่มีการอุ้มนายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ อายุ 70 ปี พี่ชาย น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ และเป็นเจ้าของสำนวนคดีโอนหุ้น นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง เพื่อให้ยกฟ้องคดีที่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 56 ปี อดีต รมช.พาณิชย์ และ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ หลายสมัยพรรคพลังประชาชน เป็นจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม กรณีการโอนหุ้นนายชูวงษ์ร่วม 300 ล้านบาท
โดยนายสราวุธ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ กระทบต่อการทำงานและความเป็นอิสระในการพิพากษาของศาล ซึ่งต้องเป็นกลาง ปราศจากการข่มขู่คุกคาม ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา คนร้าย 3-4 ได้อุ้มตัวนายวีรชัย ขึ้นรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นสปอร์ตไรเดอร์ สีดำ บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งหลังเกิดเหตุ น.ส.พนิดา เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พลับพลาไชย1 ขณะนั้นเองมีโทรศัพท์จากพี่ชายโทรเข้ามาแต่เป็นบุคคลอื่นพูดสาย ข่มขู่ให้ยกฟ้องคดี ซึ่งตำรวจได้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน จากนั้น น.ส.พนิดา เข้าร้องทุกข์กับกองบังคับการปราบปราม ซึ่งตำรวจขอให้เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับก่อน เพราะอาจกระทบต่อความปลอดภัยของตัวประกัน และเพื่อให้ง่ายต่อการสืบสวน ขณะที่ตำรวจได้จัดกำลังชุดพิเศษดูแลความปลอดภัยของ น.ส.พนิดา
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ น.ส.พนิดา เคยถูกข่มขู่คุกคามมาก่อนกระทั่งเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ซึ่งวันเกิดเหตุคำพิพากษายังไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้ปฏิบัติตามคำข่มขู่ของคนร้าย ถือว่า น.ส.พนิดา ทำหน้าที่ของผู้พิพากษาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่าผู้พิพากษาต้องเป็นกลาง มีอิสระในการพิพากษาด้วยความรวดเร็วเป็นธรรม ส่วนวันที่ 20 มี.ค.63 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีโอนหุ้นฯ นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการเลื่อนฟังคำพิพากษาหรือไม่เพราะเป็นอิสระของศาลอาญากรุงเทพใต้ในการพิจารณา แต่เชื่อว่าการข่มขู่ตัวผู้พิพากษาไม่ผลต่อการตัดสินคดี
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นครั้งแรกที่มีการลักพาตัวเพื่อแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษา ขณะที่ก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ยิงผู้พิพากษาที่ จ.ปัตตานี รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศาลแขวงพัทยา และศาลจังหวัดจันทบุรี จึงมีการผลักดันให้มีตำรวจศาลโดยสามารถบรรจุแต่งตั้งแล้ว 35 อัตรา ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ยอมรับว่ากำลังยังไม่เพียงพอต่อจำนวนศาลที่มี โดยตั้งเป้าไว้ว่าในอนาคตจะสามารถขยายอัตรากำลังตำรวจศาลในกรอบภาพรวมได้ 1,182 อัตรา
ทั้งนี้ นายสราวุธ ยังระบุว่าหลักการเรื่องความเป็นกลาง หรือการพิพากษายังเป็นเรื่องสำคัญหากถูกแทรกแซงหรือข่มขู่ ความเป็นธรรมในคดีก็จะไม่เกิด ซึ่งจะกระทบต่อประชาชน ยืนยันจะดูแลความปลอดภัยของผู้พิพากษาอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องรายละเอียดของคดีให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการชี้แจงอีกครั้งวนวันพรุ่งนี้ 11.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ