ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน ในปัจจุบันคงจะคุ้นชินกับรถสายตรวจ กองบังคับการปราบปราม ที่วิ่งอยู่ตามท้องถนน และ อยู่ในที่เกิดเหตุต่างๆ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ความเป็นมาของรถสายตรวจกองปราบปราม ที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานถึง 68 ปี
อดีตเมื่อ พ.ศ. 2492 รถสายตรวจวิทยุ ในคราบของ “ฉลามร้าย” ที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนทุกซอกทุกมุมของฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี แม้แต่ต่างจังหวัดก็พบเห็นบ่อยครั้งในยามที่ประชาชนเดือนร้อน ชาวบ้านจะเห็นเสาวิทยุโผล่มาแต่ไกลพร้อมกับเสียงที่เสียดหัวใจเหล่าบรรดานักเลงหัวไม้แก๊งอั่งยี่ อันธพาลแก๊งเก้ายอด และพวกมิจฉาชีพ นั่นคือ “ยมบาลฉลามร้ายบนเส้นทางหลวง” ทุกคนต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด แม้แต่เด็กที่ร้องไห้เมื่อได้ยินเสียงไซเรนส์ยังต้องหยุดร้อง เพราะผลงานของรถวิทยุสายตรวจกองปราบปรามที่ได้ปฏิบัติกับพวกที่เป็นศัตรูของประชาชน ทำลายความสงบสุขของชาวบ้านตาดำๆ ที่ไม่มีทางสู้ จนได้รับการขนานนามว่า “ฉลามบก” สิงห์ร้ายผู้พิฆาตศัตรูของประชาชน พิทักษ์ความยุติธรรมในสังคมชาติ
ก่อนที่จะมาเป็น ฉลามร้ายบนเส้นทาง
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น ได้ตระหนักถึงสวัสดิภาพของประชาชนในระยะเวลานั้นที่โดยเหล่านักเลงหัวไม้ แก๊งอั่งยี่ อันธพาล แก๊งเก้ายอด และพวกมิจฉาชีพ เรียกร้องค่าคุ้มครองออกตระเวนรีดไถชาวบ้าน ร้านค้าต่างๆ ทั่วไป ทวีความรุนแรงเหิมเกริมหนักข้อยิ่งขึ้นทุกวัน บางครั้งถึงกับทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ตามท้องถนน เมื่อร้านใดมิยอมจ่ายให้ตามข้อตกลงก็เข้าทำการบุกทำลายทรัพย์สินและทำร้ายร่างกายเจ้าของร้าน ในสมัยนั้นส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอยู่แต่ในโรงพักเพื่อรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างๆ เมื่อมีเหตุก็จะออกไปดูสถานที่ แต่ไม่ทันกาล เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุเหล่าร้ายแก๊งต่างๆ ก็หนีเตลิดเข้ากลีบเมฆไม่สามารถจะบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนได้อย่างจริงจัง
ในช่วงนั้นจึงได้ดำริจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาหน่วยงานหนึ่งเพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนอย่างแท้จริง จัดเป็นรูปรถสายตรวจออกตระเวนไปตามที่ต่างๆ ย่านการค้า ทั่วพระนคร-ธนบุรี และต่างจังหวัดที่มีความรุนแรงในเรื่องดังกล่าว เป็นการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยเคลื่อนที่เป็นครั้งแรกในตอนนั้น โดยตระเวนรับแจ้งความ แจ้งเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน รถดังกล่าวสามารถเข้าระงับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ ระยะแรกได้ผลเป็นอย่างมาก สามารถเป็นที่พึ่งอย่างดีสำหรับประชาชนที่ใช้ถนนในยามค่ำคืนในสมัยนั้น
รถวิทยุสายตรวจ มีขึ้นในสมัย หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ถือว่าเป็นหน่วยแรกของประเทศไทย โดยกำลังที่ออกตรวจทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามสามยอด อุปกรณ์สมัยแรกจะเป็นรถจิ๊บวิลลี่ ขนาดกลาง และเล็ก รถดังกล่าวเป็นรถของตำรวจรถถัง (วังปารุสก์) พร้อมด้วยพลขับ ส่วนศูนย์วิทยุตั้งอยู่ชั้นบน โรงพักกลาง (สน.พลับพลาไชย ในปัจจุบันนี้) กำลังทั้งหมดนำมาจากกองกำกับการ 2 กองปราบปราม ที่ตั้งอยู่ที่โรงพักสามยอด ปัจจุบันเป็นกองบังคับการกองปราบปราม (กองบังคับการกองปราบปราม ตั้งอยู่ที่ปทุมวัน) การออกตรวจแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เหนือ ใต้ ธน ข้างรถเขียนหนังสือกำกับว่า “ต” (รถตรวจ) รถดังกล่าวก็จะออกตรวจต่างจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตำรวจทางหลวงเช่นเดียวกัน
รถทั้งหมดติดเสาวิทยุด้านหลังสูงเป็นสัญลักษณ์เหมือนกระโดงหลังปลาฉลาม เมื่อ พ.ศ.2495 ภายหลังจากย้ายกองบังคับการกองปราบปรามมารวมกันหมด รถรุ่นนี้ที่มีลักษณะคล้ายปลาฉลามจึงได้ขนานนามว่า “ฉลามบก” นักล่าศัตรู ของประชาชน มีภารกิจทั่วประเทศ มีขอบเขตการทำงาน ด้านใต้ถึงหัวหิน ตะวันออกเฉียงเหนือถึงโคราช ตะวันออกถึงระยอง และทางเหนือก็มีอีกเช่นกัน ผลัดกันออกอาทิตย์ละวัน ตลอด 24 ชม. ทั่วประเทศ เป็นการคุ้มครองบนถนนทางหลวงสายต่างๆ ทั่วประเทศ ต่อมาได้ขึ้นกับกรมทางหลวง กลายเป็น ตำรวจทางหลวง ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบก.ถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.ถปพ.) เปิดเผยว่า รถวิทยุสายตรวจกองปราบปราม ได้ทำการศึกษาวิจัยจากประเทศอังกฤษ ว่า สีของรถสายตรวจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นลายสก๊อตสีเขียว ในเชิงจิตวิทยา ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน ที่ดูไม่ดุดันจนเกินไป ประกอบกับ สีที่สะท้อนแสง ทำให้ประชาชน เห็นได้ในระยะ 500 เมตร ในช่วงเวลากลางวัน และในเวลากลางคืนหรือแสงสว่างน้อย ประชาชนสามารถ เห็นได้ในระยะ 200 เมตร โดยสีรถลายดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการ เมื่อปลายปี 2559 จำนวน 86 คัน
แต่ขณะนี้ บป.ถปพ. แยกออกมาจาก กองบังคับการปราบปราม แล้ว ก็จะนำสีรถลายสก็อตสีเขียว มาใช้ในหน่วยงาน ของถปพ. จำนวน 127 คัน เริ่มใช้ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ส่วนรถจำนวน 86 คัน จะส่งมอบคืนให้กองปราบปราม ซึ่ง ทางกองปราบปราม จะนำไป ทำลายใหม่ เป็นสีฟ้า ให้แตกต่างจาก ของ บก.ถปพ.