วันนี้(3 ก.พ.65) ที่กองบังคับการปราบปราม พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ร่วมกับ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการอย. ได้ร่วมแถลงผลการทลายแหล่งผลิตไว้กรอกปนเปื้อน ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ยึดของกลางกว่า 32 รายการ มูลค่า 700,000 บาท
สืบเนื่องมาจากกรณีที่มีเด็กหลายรายในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ,สระบุรี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี และตรัง ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจาก เกิดภาวะ เมธฮีโมโกลบินนีเมีย (methemoglobinemia) เนื่องจากการรับประทานไส้กรอก ทางปคบ. ร่วมกับอย.และ สสจ.จึงร่วมตรวจสอบกรณีดังกล่าวจนทราบแหล่งผลิตไส้กรอกซึ่งอยู่ในจ.ชลบุรี ต่อมาอย.ร่วมกับ สสจ.ชลบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตไส้กรอกดังกล่าว พบนางสาว ร. (สงวนชื่อจริง-นามสกุล) แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ โดยโรงงานดังกล่าวได้ผลิต ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ โดยยอมรับว่าได้ทำการผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด อีกทั้งฉลากอาหารยังไม่มีการแสดงเลขสารบนอาหารและแสดงฉลากไม่ถูกต้อง อีกทั้งจากการตรวจสอบยังพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ GMP ที่กฎหมายกำหนด และพบข้อบกพร่องได้แก่ ไม่มีการควบคุมการผลิต ในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมาย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างอาหารมาเพื่อตรวจวิเคราะห์หากพบสารต้องห้ามในอาหารจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์”
พ.ต.อ.เนติ กล่าวว่า ไส้กรอกจากโรงงานดังกล่าวได้มีการผลิตและกระจายออกไปในหลายพื้นที่ เช่นตลาดนัดจ.ชลบุรี และตลาดมหาชัย รวมถึงมีการกระจายไปในจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้เนื้อไก่แต่งกลิ่นหมูและขายเป็นหมูยอ ซึ่งในส่วนนี้ทาง พ.ต.อ.เนติได้กล่าวว่าจะมีการส่งตัวอย่างอาหารไปตรวจวิเคราะห์ หากพบว่าเป็นเนื้อไก่จริง จะมีการแจ้งข้อหาหนักและข้อหาการผลิตอาหารปลอมต่อไป
นอกจากนี้ นพ.วิทิต ยังกล่าวเสริมว่า ในการผลิตไส้กรอกจะมีการใช้สารประกอบไนไตรต์และไนเตรตในการผลิตอยู่แล้ว แต่โดยทั่วไปจะจำกัดปริมาณไว้ที่ 80 มิลลิกรัมซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่แหล่งผลิตไส้กรอกดังกล่าวมีการตรวจพบว่าลูกจ้างใช้มือตวงสารดังกล่าวทำให้มีการตรวจพบสารประกอบไนไตรต์และไนเตรตสูงถึง 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเมธฮีโมโกลบินมีเนีย ซึ่งเป็นภาวะที่พบฮีโมโกลบินในเลือดเยอะกว่าปกติ เนื่องจากมีสารตัวอื่นไปแย่งออกซิเจนในการจับกับเลือก ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน มีอาการหน้ามืด ใจสั่น วิงเวียน ปลายมือปลายเท้าเขียว ในบางรายอาจไปจนถึงหมดสติ และเสียชีวิตได้