พ.ต.อ.ณรัช เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวชี้แจงกรณีนายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง พูดในเวทีเสวนา “ปฎิรูประบบยุติธรรม เสียงสะท้อนจากเรือนจำ” ที่นำอดีตผู้ต้องขังแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาถ่ายทอดประสบการณ์ในเรือนจำ โดยกล่าวอ้างว่าในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีแดนวีไอพี อยู่ในแดน 11 สามารถจัดเลี้ยงวันเกิดโดยสั่งอาหารจากภายนอกเข้ามาได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพราะมีผู้ทำหนังสือประสานมายังเรือนจำขอเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้ต้องขังทั้งหมด ซึ่งกรมราชทัณฑ์เห็นว่าเป็นผู้มีจิตศรัทธาและตามระเบียบของเรือนจำสามารถทำได้ ก่อนจะมาทราบภายหลังว่าผู้ขออนุญาตไม่ใช่เจ้าภาพที่แท้จริง
ส่วนกรณีที่มีภาพนายสินธิ ลิ้มทองกุล ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ปรากฎอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า นายสนธิ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว และยังเหลือโทษอีกหลายปี แต่ภาพที่ปรากฎออกไปนั้นเป็นการไปพบแพทย์เฉพาะทางตามใบนัดเท่านั้น โดยมีนายแพทย์ตำรวจเป็นผู้กำกับดูแล อีกทั้งจะเห็นได้ว่าในภาพนายสนธิสวมเครื่องแต่งกายตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ และมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประกบตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมราชทัณฑ์มีเรือนจำอยู่ 143 แห่งทั่วประเทศ แต่มีทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพียงแห่งเดียว ศักยภาพการรักษาเฉพาะทางหรือระดับสูงอาจไม่เพียงพอ จึงต้องส่งตัวต่อไปยังสถานพยาบาลอื่น และไม่ใช่เฉพาะเรือนจำคลองเปรมหรือเรือนจำพิเศษกรุงเทพเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรือนจำตามภูมิภาค ก็มีการส่งตัวไปรักษาตามโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน
ขณะเดียวกันได้ชี้แจงกรณีที่มีภาพนายปัญญา ยิ้มอัมไพหรือเก่ง ลายพราง ผู้ต้องขังในคดียาเสพติด คู่กับเค้กวันเกิดที่ถูกเผยแพร่ออกไป ยืนยันว่า เป็นเค้กที่ทำขายภายในเรือนจำ โดยญาติผู้ต้องขังได้สั่งเค้กให้ และเพื่อความโปร่งใสผู้คุมจึงถ่ายรูปส่งให้กับญาติเพื่อแจ้งว่าได้ส่งของถึงมือผู้ต้องขังแล้วเท่านั้น
ด้านนายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พาคณะสื่อมวลชนไปสำรวจสภาพภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทั้งสภาพความเป็นอยู่ ห้องนอนของผู้ต้องขังที่ถูกอ้างว่าเป็นห้องวีไอพี สถานที่ผลิตอาหาร รวมถึงสถานที่ในการผลิตขนมเค้ก เพื่อยืนยันความโปร่งใสและมาตรฐานในการปฏิบัติดูแลผู้ต้องขัง
พร้อมกันนี้ยังกล่าวถึงเทคโนโลยีการเยี่ยมผู้ต้องขังผ่านระบบวีดีโอไลน์ที่นำมาใช้ในเรือนจำเมื่อ 4 เดือนก่อนว่า เพื่อลดรายจ่าย ค่าเดินทางของญาติที่ต้องเดินทางไกลมาเยี่ยม ซึ่งการอำนวยความสะดวกดังกล่าวยังมีใช้ในเรือนจำบางแห่งที่มีความพร้อม โดยผู้ที่ต้องการใช้การเยี่ยมญาติผ่านช่องทางนี้ต้องใช้บัตรประชาชนลงทะเบียน ผู้ต้องขังสามารถระบุรายชื่อญาติได้ 10 คน เมื่อต้องการเข้าเยี่ยมก็ต้องจองคิวล่วงหน้า และปฎิบัติตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด โดยมีผู้คุมคอยประกอบอย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลาสนทนา 15 นาที
อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องห้องวีไอพี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เข้าเยี่ยมชมเรือนจำด้วย ยืนยันกับสื่อมวลชนว่าภายในเรือนจำไม่มีห้องวีไอพี เรื่องที่เกิดขึ้นเชื่อว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จากคำบอกเล่าของนักโทษภายในเรือนจำที่รับโทษเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น